ความเชื่อของคนไทย เป็นความเชื่อที่หลากหลาย อันมีที่มาของความเชื่อและพิธีกรรมตามประเพณี มีธรรมเนียมและรูปแบบการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป อีกทั้งยังมีส่วนที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอยู่มาก ทำให้ความเชื่อในการบูชาองค์เทพต่าง ๆ จากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีอิทธิพลต่อสังคมและวัฒนธรรมไทยอย่างยิ่ง ควบคู่ไปกับพุทธศาสนา หนึ่งในนั้นก็คือการ บูชาเทพแห่งโชคลาภ “พระแม่ลักษมี” และ “คาถาบูชาพระแม่ลักษมี”
หลาย ๆ คนคงสงสัยว่าเวลาไปกราบไหว้สักการะขอพรองค์เทพต่าง ๆ ควรจะขอพรเรื่องอะไรจากท่านดี เพราะเราก็รู้จักองค์เทพกันมากมาย เช่น พระพรหม พระพิฆเนศ พระวิษณุ เป็นต้น
แต่ก็ยังมีหลายองค์มากที่เรายังไม่ค่อยรู้จักกันเท่าไหร่นัก โดยในครั้งนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ พระแม่ลักษมี เทวีแห่งความร่ำรวย เนื่องใน “วันดีปาวลี” พิธีแห่งแสงรุ่งโรจน์ที่กำลังจะถึงนี้ พร้อม คาถาบูชาพระแม่ลักษมี ที่ใช้ในการกราบไหว้ขอพร
พระแม่ลักษมี เทวีแห่งความร่ำรวย
พระแม่ลักษมี เป็นเทพแห่งความรักที่บริบูรณ์ เนื่องจากทรงเป็นพระชายาที่ซื่อสัตย์และเป็นที่รักยิ่งของพระนารายณ์ ทำให้ผู้คนต่างศรัทธาและมาสักการะขอพรกันในเรื่องความรัก ขอให้สมหวัง ขอให้คนรักรักและซื่อสัตย์กับเราแต่เพียงผู้เดียว นอกจากนี้ท่านยังประทานพร ประทานความสำเร็จให้ ไม่ว่าจะเป็นการประกอบกิจการ การค้า การทำธุรกิจต่าง ๆ การเจรจาต่อรอง ตลอดจนทรัพย์สินเงินทองและความมั่งคั่งให้กับผู้ที่ตั้งใจหมั่นสักการะบูชาท่านด้วย
ลักษณะของพระแม่ลักษมีมักเป็นสตรีที่งาม มี 2 กร (มือ) บางแห่งก็ว่ามี 4 กร สีกายเป็นสีทองเสื้อทรงสีเหลือง นั่งหรือยืนบนดอกบัวและมือถือดอกบัว ผู้ศรัทธาจะถือกันว่าพระแม่ลักษมีเป็นเทพนารีผู้อำนวยโชค มีน้ำพระทัยเมตตาปราณีอ เป็นตัวอย่างแห่งนางที่งามตลอดทั้งรูปและกิริยามารยาท มีวาจาเปี่ยมด้วยเสน่ห์และไพเราะ ทั้งถือกันว่าเป็นผู้นำมาซึ่งความเจริญทุกประการ นับกันว่าเป็นผู้อุปถัมภ์บรรดาสตรีทุกชั้น
“พระแม่ลักษมี” ใน “วันดีปาวลี” พิธีแห่งแสงรุ่งโรจน์ของชาวฮินดู
“วันดีปาวลี” หรือ “วันงานพิธีแห่งแสง” (การจุดไฟให้สว่างไปทั่วบริเวณ) เป็นวันพิธีสำคัญยิ่งพิธีหนึ่งของชาวฮินดู มักตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน การติ (KARRTKA) ซึ่งตรงกับช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน โดยในปีนี้วันดีปาวลีตรงกับวันที่ 12-16 พฤศจิกายน 2563
ความสำคัญของวันนี้ คือ เป็นวันที่ “พระแม่ลักษมี” เทพเจ้าแห่งทรัพย์สินเงินทอง และโชคลาภ พร้อมด้วย “พระพิฆเนศ” จะทรงเสด็จมายังโลกมนุษย์ เพื่อประทานพรแก่ผู้บูชาพระองค์ นับว่าเป็นเครื่องหมายแสดงว่าได้ย่างเข้าฤดูกาลใหม่ หรือการเริ่มปีกาลใหม่
พ่อค้าแม่ค้าหรือผู้ทำธุรกิจ จะถือโอกาสในวันนี้ว่าเป็นการเริ่มธุรกิจการงานหรือเปิดบัญชีหน้าใหม่ บางท่านเชื่อกันว่ามักจะนำสมุดบัญชี กระเป๋าสตางค์ชุดใหม่ หรืออุปกรณ์การทำธุรกิจขึ้นพานถวาย เพื่อให้ขอพรให้กิจการรุ่งเรือง ขายดิบขายดี และประสบความสำเร็จ
ซึ่งภายในงานจะมีการจุดประทีป ให้แสงสว่าง เพื่อเป็นการเตือนให้รู้ว่า ความสว่างได้ขับไล่ความมืดมนให้หมดไป และขับไล่ความโง่เขลา และความโชคร้ายที่มีมาตลอดทั้งปีให้สดใสขึ้น นำมาซึ่งความผาสุกแจ่มใสที่ดีในปีต่อไป
ผู้ที่นับถือและศรัทธาในพระแม่ลักษมี เชื่อว่าในวันก่อนวันดีปาวลี 2-3 วัน บ้านเรือนควรได้รับการทำความสะอาด หรือบางครั้งมีการทาสีบ้านใหม่ สถานที่เตรียมไว้เพื่อการกราบไหว้บูชา จะต้องมีการตกแต่งประดับธงทิวสีสันต่างๆ ทั้งมีการประดับด้วยดอกไม้ในยามราตรี
มีการจุดประทีปให้สว่างไสวไปทั่วบริเวณ และมีการเล่นสนุกสนาน ด้วยการจุดดอกไม้ไฟ ผู้คนทั้งหลายจะต้องรีบตื่นในตอนเช้า อาบน้ำชำระร่างกาย ทำจิตใจให้แจ่มใส พูดจาดี มีอารมณ์ดีตลอดวัน มีการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ และมีการจัดหาขนมหวานนานาชนิดไว้แลกเปลี่ยนกัน และจะเริ่มขั้นตอนการบูชาพระแม่ลักษมี
ขั้นตอนการบูชาพระแม่ลักษมี เนื่องใน วันดีปาวลี
ผู้ศรัทธาสามารถจัดการบูชาถวายพระแม่ลักษมี วันที่ 2 หรือ 3 หรือจะบูชาทั้ง 2 วันก็ได้ โดยเวลาที่ควรจัดบูชา คือ ช่วงหลังพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว หรือเวลากลางคืน เพราะจะมีการจุดประทีปนอกบ้านหรือโต๊ะบูชาด้วย โดยมีขั้นตอนการบูชา ดังนี้จัดเตรียมโต๊ะ และเทวรูปให้เรียบร้อย ทำความสะอาดเทวรูปพระแม่ลักษมี โดยเลือกองค์ที่ขนาดไม่ใหญ่มาก ทำจากวัสดุที่โดนน้ำได้ เช่น หินแกะสลัก ทองเหลือง สำริด เรซิ่น ฯลฯ ไม่ควรเป็นเทวรูปไม้แกะสลัก เทวรูปปูนปั้น ดินปั้น หรือเทวรูปที่มีการตกแต่งประดับด้วยคริสตัลเพชรพลอย เพราะอาจทำให้เสียหาย
–จัดเตรียมอุปกรณ์
- กำยาน หรือ ธูป เทียนต่าง ๆ พร้อมกระถางธูป
- เทียน 2 ซ้ายและขวา
- โต๊ะ 2 ตัว โดยตัวหนึ่ง เรียกว่า “โต๊ะประดิษฐาน” สำหรับตั้งเทวรูป และถวายของ ส่วนตัวสอง เรียกว่า “โต๊ะเตรียมของ” เพื่อวางของถวายเตรียมถวายไปที่โต๊ะตัวแรก
- อ่าง หรือ ชามใบใหญ่ เพื่อนำเทวรูป “องค์บูชา” ประดิษฐานลงไป รอรับการสรงน้ำ
- เตรียมเครื่องสังเวย ได้แก่ ผลไม้ ดอกไม้ โดยเน้นดอกบัวสีชมพู ขนมเพชร ขนมบัฟฟี่น้ำ และนม ห้ามมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์และไข่โดยเด็ดขาด
–ถวายมันตราต่างๆ และทำการถวายอารตีไฟ หรือการสรงน้ำ โดยบทสวดมีหลายบทมาก ทุกคนสามารถเลือกใช้บทสวดใดก็ได้ แนะนำเป็นบทสวด “โอม เจ ลักษมีมาตา” จะ 9 จบ หรือ 108 จบก็ได้
–ตอนกลางคืน ผู้นับถือส่วนใหญ่มักนิยมจุดประทีป และประดับประดาไปด้วยดอกไม้ เป็นแนวทางเดินยาวซ้ายขวาเข้าบ้าน เชื่อกันว่าเปิดทางให้พระแม่ลักษมีเสด็จมายังบ้านของผู้บูชา แต่หากไม่สะดวก สามารถจุดประทีปถวายในห้องบูชาได้
บูชาพระแม่ลักษมี ขอความมั่งคั่งร่ำรวย ความอุดมสมบูรณ์ และความรัก
ไม่เพียงแค่ทำการบูชา “พระแม่ลักษมี” เนื่องใน วันดีปาวลี เท่านั้น แต่สามารถทำการบูชาในวันอื่น ๆ ได้ด้วย โดยสำหรับผู้ที่มีความศรัทธา และมีพระแม่ลักษมีประดิษฐานอยู่ในบ้าน สามารถถวายสิ่งของได้หลากหลายชนิด ได้แก่
- ผลไม้ต่าง ๆ ไปจนถึงดอกไม้ นม เนย ข้าวสาร ธัญพืช
- เครื่องสำอาง น้ำหอม โดยน้ำหอมสามารถฉีดที่เทวรูปหรือรูปบูชาได้ และก็สามารถลามาใช้เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง เพื่อเสริมดวงความรัก เมตตามหานิยม
- ถวายเงิน ได้โดยการเหน็บไว้ที่เทวรูป หรือใส่โอ่งเงินโอ่งทอง และให้นำเงินนั้นลาไปทำบุญเสริมบารมีแด่ตนเอง เพื่อเสริมความมั่งคั่งร่ำรวย
คาถาบูชาพระแม่ลักษมี
พระแม่ลักษมี มักจะนิยมบูชาคู่กับเทพพระองค์ใดบ้าง
การบูชา พระแม่ลักษมี นิยมบูชาคู่กับเทพหลายองค์ โดยมีความเชื่อว่าจะสามารถประทานพรความเป็นสิริมงคลในด้านต่าง ๆ ได้อย่างทวีคูณ โดยแบ่งออกเป็น 5 การบูชา ดังนี้
- ลักษมีคณปติ : เป็นการบูชาคู่กันระหว่าง พระแม่ลักษมี และพระพิฆเนศ เชื่อกันว่าจะประทานพรด้านความสำเร็จ และความมั่งคั่ง เหมาะกับผู้ที่ทำธุรกิจ ประกอบอาชีพค้าขาย
- ตรีเอกานุภาพ : เป็นการบูชารวมกัน 3 องค์เทพอัน ได้แก่ พระพิฆเนศ พระแม่ลักษมี และพระแม่สรัสวดี เชื่อกันว่าช่วยเสริมความรู้ และสติปัญญาที่ไม่สิ้นสุด ในการเก็บทรัพย์และการประกอบอาชีพ
- ตรีศักติ : เป็นการรวมกันของ 3 มหาเทวี ได้แก่ พระแม่อุมาเทวี พระแม่ลักษมี และพระแม่สรัสวดี เชื่อกันว่าจะประทานทั้งอำนาจบารมี ความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง และความรู้อันไม่มีที่สิ้นสุด
- ลักษมีกุเบร่า : เป็นการบูชาคู่กันระหว่างพระแม่ลักษมี และท้าวกุเวร เชื่อว่าเพื่อเป็นการประทานทรัพย์สิน
- ลักษมีนารายณ์ : เป็นการบูชาคู่กันระหว่าง พระวิษณุนารายณ์ และพระแม่ลักษมี เชื่อกันว่าจะประทานด้านความอุดมสมบูรณ์พูนสุข และความรักอันมั่นคง รวมถึงชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น
กราบไหว้สักการะขอพร พระแม่ลักษมี ได้ที่ไหน
“ศาลพระแม่ลักษมี” ที่ร่ำลือกันว่าศักดิ์สิทธิ์และผู้คนนิยมไปบนบานขอพรมากที่สุด อยู่ที่ดาดฟ้าชั้น 4 เกษรวิลเลจ (หรือห้างเกษรพลาซ่าเดิม) โดยสร้างขึ้นอย่างวิจิตรงดงามและอัญเชิญมาประดิษฐานไว้บนยอดอาคารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ว่ากันว่านักธุรกิจที่มีชื่อเสียงของเมืองไทยและเหล่าดารานักร้อง มักจะขึ้นไปสักการะอยู่เป็นประจำ ด้วยเชื่อว่าเป็นสิริมงคลในการทำธุรกิจการค้าและประกอบสัมมาชีพ
เปิดให้เข้าไปสักการะได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. โดยของไหว้ได้แก่ธูป 9 ดอกและบัวสีชมพู ส่วนของที่นิยมนำมาแก้บนคือ น้ำอ้อย หรือผลไม้รสอ่อน ๆ เช่น มะพร้าว แนะนำให้นำเครื่องสักการะที่ต้องการไหว้มาเอง เพราะบริเวณนี้ไม่มีร้านค้าจำหน่ายของไหว้เหมือนเทวสถานแห่งอื่น
วิธีเดินทางไปศาลพระแม่ลักษมี : ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ลงที่สถานีชิดลม จากนั้นเดินต่อไปตามทางเชื่อม BTS Skywalk อีกราว 150 เมตร ก็จะถึงจุดหมาย
สรุป
แม้คนไทยจะนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก แต่ก็ยังนับถือและปฏิบัติตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูไปด้วย ดังนั้นคติความเชื่อลักษณะนี้จึงสอดแทรกอยู่ในวิถีการดำรงชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน
ซึ่งการจะสักการะบูชาเทพองค์ไหนขึ้นอยู่กับความเชื่อและศรัทธาของตัวคุณเอง และถึงแม้คติความเชื่อถือเกี่ยวกับพระแม่ลักษมีในเมืองไทยอาจไม่พบมากนัก แต่ พระแม่ลักษมี ก็ถือเป็นเทพเจ้าแห่งทรัพย์สินเงินทอง และโชคลาภ ที่ควรค่าแก่การกราบไหว้สักการะขอพรอีกหนึ่งองค์ที่มีศักดิ์สิทธิ์